ศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ , สถานที่ปฎิบัติธรรมประจำจังหวัดเชียงใหม่แห่งที่ ๓๐
จุดมุ่งหมายและพันธกิจ
ศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ เกิดขึ้นในประเทศไทย เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๐๑ โดยก่อตั้งครั้งแรกที่มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ วัดมหาธาตุฯ ท่าพระจันทร์ กรุงเทพมหานคร โดยนำแบบอย่างการศึกษาพุทธศาสนาที่ประเทศศรีลังกาที่จัดการเรียนการสอนแก่เด็กและเยาวชนในวันอาทิตย์มาเป็นแนวทางการศึกษาพระพุทธศาสนาของเด็กและเยาวชน ไทยเรา และก็ได้แพร่หลายขยายสาขาออกไปทั่วประเทศ
โรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ ที่เกิดขึ้นในประเทศศรีลังกา และประเทศไทยนั้น มีปรารภเหตุที่แตกต่างกันของที่มา แต่มีความมุ่งหมายในแนวทางเดียวกัน คือ ต้อง การให้เด็กและเยาวชนได้มีความใกล้ชิดกับพระพุทธศาสนา เรียนรู้หลักธรรมคำสอนแล้วนำไปประพฤติปฏิบัติ เมื่อเติบ โตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ก็จะเป็นผู้ใหญ่ที่มีจริยธรรมและคุณธรรม เป็นแบบอย่างในสังคม
ครั้นเมื่อประเทศศรีลังกาได้รับอิสรภาพแล้ว ก็มีการฟื้นฟูพระพุทธศาสนาเป็นการใหญ่ จึงจัดให้มีโรงเรียนศึกษาพระพุทธศาสนาขึ้นในวันอาทิตย์ ซึ่งเป็นวันหยุดเรียนของทางราชการ ให้เด็กและเยาวชนได้ศึกษากันอย่างกว้างขวางทั่วประเทศ ทำให้สถานะของพระพุทธศาสนาในประเทศศรีลังกากลับมามีบทบาทในสังคมศรีลังกาอย่างสำคัญอีกครั้ง ซึ่งนับวันจะยิ่งมั่นคงแข็งแรงขึ้นตามลำดับ
สำหรับประเทศไทยที่ได้มีการจัดการศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ขึ้น ก็โดยปรารถนาถึงเด็กและเยาวชนของ ชาติที่นับวันจะเหินห่างพระพุทธศาสนามากขึ้นทุกที เพราะโรงเรียนที่เคยมีอยู่ในวัดวาอารามต่างๆ ก็ไปมีอยู่นอกวัด ทำให้เด็กห่างวัด การศึกษาแผนใหม่แม้ไม่ขัดแย้งกับคำสอน ในพระพุทธศาสนา แต่ก็จะไม่เกื้อกูลต่อพระศาสนา ถ้าครูผู้สอนไม่รู้จักนำธรรมะในพระพุทธศาสนาไปประยุกต์ให้สอดคล้องกับวิชาการสมัยใหม่ อีกทั้งสังคมเมืองใหญ่ก็ล้วน มีสิ่งล่อสิ่งเร้าที่ทำให้เด็กและเยาวชนหันเหไปในทางผิดได้เสมอ และก็มีตัวอย่างที่ไม่ดีที่เกิดขึ้นแก่เด็กและเยาวชนให้ เป็นข่าวปรากฏตามสื่อมวลชนอยู่ไม่น้อย ทำอย่างไรที่จะให้ เด็กและเยาวชนได้รู้ถึงคำสอนในพระพุทธศาสนา แล้วนำไป ประพฤติปฏิบัติ เป็นภูมิคุ้มกันให้พวกเขาก้าวพ้นห้วงเหวของความไม่ดีไม่งามต่างๆไปได้ จึงได้มีการจัดตั้งโรงเรียน พุทธศาสนาวันอาทิตย์ขึ้น
แต่ปัญหาของโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ ที่หนักอกผู้บริหารมาตลอด ก็คือ ขาดทุนทรัพย์ในด้านการจัดการศึกษา ในสำนักเรียนใหญ่หรือวัดใหญ่ในเมืองที่มีฐานะดี เพราะมีรายได้จากศาสนสมบัติของวัด เช่น ค่าเช่าตึกอาคารพาณิชย์ และที่ดินของวัด(ที่กัลปนาสงฆ์)ก็สามารถจัดการศึกษาได้อย่างยั่งยืนถาวร แต่ถ้าเป็นสำนักเรียนเล็กๆ หรือวัดเล็กๆ ไม่มีทุนทรัพย์ก็ไม่สามารถจะจัดการศึกษาให้ดำเนินไปได้โดยตลอด ต้องอาศัยกำลังศรัทธาของชาวบ้าน และครูบาอาจารย์จากโรงเรียนภายนอกเข้ามาช่วยสอน ซึ่งก็เป็นการเสียสละของพวกเขาที่น่าสรรเสริญ
การที่วัดจัดการศึกษาพระพุทธศาสนาขึ้นมา ก็มีวัตถุประสงค์ที่แน่ชัดอยู่แล้วว่า ต้องการให้เด็กและเยาวชนของชาติได้มีความรู้ทางพระพุทธศาสนา เพื่อจะได้นำความรู้ คือ หลักธรรมคำสอนไปประพฤติปฏิบัติในชีวิตประจำวัน เป็นการปลูกฝังคุณธรรมและจริยธรรมแก่เด็ก และเยาวชน ให้เป็นคนดีของสังคม ก็จะทำให้สังคมสงบสุขอยู่ได้